ทำไมต้องโปรยเหรียญในงานพิธี และมีความสำคัญอย่างไร

ทำไมต้องโปรยเหรียญโปรยทาน

เคยสังเกตไหมพิธีสำคัญต่างๆ มักจะมี ‘การโปรยทาน’ เข้ามาเป็นหนึ่งในกิจกรรมสำคัญของพิธี ยิ่งตอนเป็นเด็กเห็นการโปรยทานทีไร ก็อดตื่นตาตื่นใจวิ่งไปแย่งเก็บไม่ได้ทุกที แต่เคยสงสัยบ้างไหมว่าแท้จริงแล้ว ‘เหรียญโปรยทาน’ คืออะไรและจำเป็นไหมต่อการประกอบพิธี 

โปรยทาน คืออะไร

จากข้อมูลงานวิจัยเรื่องเหรียญบอกบุญได้อธิบายถึงที่มาของเหรียญโปรยทานไว้ว่า หากย้อนไปถึงสมัยพุทธกาล ตั้งแต่ที่พระพุทธเจ้าทรงสละราชสมบัติแล้วออกผนวช พระองค์ได้ทรงสละแล้วซึ่งทุกสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นแก้วแหวนเงินทองของมีค่า ดังนั้นแนวทางปฏิบัตินี้จึงถูกใช้สืบต่อมา เลยกลายเป็นที่มาของการโปรยทานเพื่อสละทรัพย์สินเงินทอง แถมยังเสริมด้วยการให้ทานแก่คนอื่นๆ ซึ่งแง่คิดที่น่าสนใจก็คือ การสละและการไม่ยึดติดถือเป็นสิ่งที่พึงกระทำ โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่กำลังจะเค้ารับการอุปสมบท ดังเช่นพิธีการที่เราเห็นกันค่อนข้างบ่อยอย่างการโปรยทานในช่วงการบวช ซึ่งทำให้ระลึกถึงว่าก่อนบวชนั้น ผู้ตัดสินออกบวชได้สละแล้วซึ่งทุกสิ่ง และตั้งมั่นที่จะบวชด้วยใจอันบริสุทธิ์นั่นเอง

การโปรยทานถือเป็นการทำทานอย่างหนึ่ง มักนิยมโปรยทานตามงานบวชและงานเผาศพ เดิมสมัยก่อนจะนิยมโปรยเป็นเหรียญเงินเลย จะเท่าไรนั้นก็ขึ้นกับฐานะของเจ้าภาพแต่ละงาน แต่ส่วนมากจะนิยมใช้เหรียญ 1 บาท ซึ่งเมื่อโปรยลงมาแล้วทำให้ผู้รอรับหาไม่เจอ หรือหาเจอก็เก็บรวมกับเงินเดิมของตัวเองจนไม่รู้ว่าเหรียญโปรยทานคือเหรียญไหน

ปัจจุบันจึงแก้ไขด้วยการห่อเหรียญด้วยผ้า, กระดาษ หรือริบบิ้น เพื่อให้มองเห็นง่ายๆ พร้อมกับทำเป็นรูปร่างต่างๆสวยงามน่ารัก เช่น นก ไก่ ดอกบัว ดาว ส้ม

จนกลายเป็นธุรกิจทำรายได้สูงได้อีก หากเป็นเหรียญโปรยทานงานบวชจะนิยมใช้เป็นสีสดใส ส่วนเหรียญโปรยทานงานศพจะนิยมใช้สีขาว สีดำ เป็นหลัก แต่ก็มีบางงานที่เจ้าภาพชอบสีสดใสก็สามารถใช้สีได้ เหรียญโปรยทาน ที่เก็บมาได้นี้ บางคนก็เอามาบูชาพระทุกวันเพราะเชื่อว่าจะทำให้ค้าขายร่ำรวย หรือบางคนก็เก็บสะสมไว้แล้วเอาไปหยอดตามตู้ค่าน้ำค่าไฟของวัด ก็ได้บุญกุศลอีกต่อหนึ่ง

เหรียญโปรยทาน
เหรียญโปรยทานงานศพ

เหรียญโปรยทานใช้โปรยในงานอะไรบ้างและมีกี่ประเภท

ปัจจุบันมีการใช้เหรียญโปรยทานกันอย่างแพร่หลายในพิธีต่างๆ โดยแบ่งตามประเภทของงานพิธีดังต่อไปนี้

1. งานบวช (เหรียญโปรยทานงานอุปสมบท)

การใช้เหรียญโปรยทานในงานบวชถือว่าเป็นสิ่งสำคัญเลยทีเดียว  เพราะการบวชแต่ละครั้งเปรียบเสมือนการที่ผู้บวชหรือนาคกำลังก้าวเข้าสู่ร่มเงากาสาวพัสตร์ โดยก่อนที่นาคจะเข้าโบสถ์ นาคจะทำการโปรยทานด้วยเหรียญโปรยทานเสียก่อน ซึ่งพิธีการโปรยทานนั้นเปรียบเสมือนการแสดงความตั้งใจจริงของนาคที่จะศึกษาเรียนรู้ธรรมะ โดยพร้อมที่จะสละแล้วซึ่งสินทรัพย์และกิเลสทั้งปวง และพร้อมที่จะนำพาหัวใจอันบริสุทธิ์ในการบวชเรียนและเผยแพร่ศาสนาตามแนวทางของพระพุทธเจ้า

เหรียญโปรยทานงานบวช
เหรียญโปรยทานงานบวช

เหรียญโปรยทานบวชโปรยตอนไหน

ปกติแล้วควรจะให้นาคโปรยก่อนที่จะเข้าประตูโบสถ์ โดยหลังจากนาคฟังเทศน์และได้วนรอบอุโบสถครบ 3 รอบ พร้อมประกอบพิธีท่องคำสวดแล้ว จึงค่อยทำการโปรยทาน 

2. งานแต่งงาน (เหรียญโปรยทานงานมงคลสมรส)

การใช้เหรียญโปรยทาน นอกจากจะใช้ในพิธีงานบวชแล้ว ยังถูกนำมาประยุกต์ใช้ในประเพณีการแต่งงานแบบไทยอีกด้วย หลายคนอาจจะสงสัยว่าไม่เคยเห็นมีขั้นตอนไหนที่จะต้องใช้เหรียญโปรยทานในระหว่างงานเลย แต่แท้จริงแล้ว ขั้นตอนนี้แฝงอยู่ในพิธีที่เราคุ้นเคยกันดี นั่นก็คือการกั้นประตูเงินประตูทอง โดยเหรียญโปรยทานในขั้นตอนนี้จะถูกประยุกต์ใช้เป็น ‘ซองมงคล’ ที่จะมีเงินถูกบรรจุไว้ในซองสีสวยหวาน ซึ่งซองมงคลนี้จะเป็นซองที่เจ้าบ่าวต้องมอบให้กับผู้ที่มากั้นประตูเงินประตูทองนั่นเอง

เหรียญโปรยงานแต่งงานโปรยตอนไหน

เหรียญโปรยทานจะถูกประยุกต์ใช้เป็นซองมงคล โดยเจ้าบ่าวต้องนำมาให้ผู้กั้นประตูเงินประตูทอง

3. เหรียญโปรยงานศพ

แม้จะเป็นช่วงลาจากหรือการกล่าวคำอำลาจากบุคคลอันเป็นที่รักอย่างงานศพ การโปรยทานก็ถือเป็นสวนหนึ่งที่นิยมทำกันในงานศพตามประเพณีไทย เนื่องจากการโปรยทานนั้นจะเปรียบเสมือนการซื้อทางให้กับผู้วายชนม์ และส่งให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วไปสู่ภพภูมิที่ดีและราบรื่นตลอดเส้นทางหลังการสิ้นชีพ

เหรียญโปรยงานศพโปรยตอนไหน

การโปรยทานจะอยู่ในช่วงระหว่างเคลื่อนศพไปยังเมรุสำหรับพิธีเผา โดยในระหว่างนี้ญาติจะเดินตามหลังศพอยู่ท้ายขบวนพร้อมกับโปรยทานไปด้วย โดยผู้โปรยทานจะต้องตั้งจิตให้เป็นสมาธิ ตั้งใจอุทิศส่วนกุศลแห่งการโปรยทานนั้น ให้ผู้ตายได้รับประโยชน์ในผลทานที่โปรยลงไปนั้นด้วย

อานิสงส์จากการโปรยเหรียญโปรยทาน

การให้ทานเหล่านี้มีอานิสงส์ที่ต่างกันไป แต่ที่เหมือนกันก็คือการให้ทานทั้ง ๕ ประการนี้ เมื่อถึงเวลาที่ผลบุญของการให้ทานจะปรากฏขึ้นมา บุคคลนั้นๆจะมีความมั่งคั่งสมบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติเงินทอง นอกจากนั้นแล้วยังมีอานิสงส์อื่นเพิ่มขึ้นมาจากการให้ทานตามลักษณะของทานนั้นๆ เช่น

  • ให้ทานด้วยความศรัทธา ความเชื่อ เวลาอานิสงส์ของทานนี้เกิดขึ้นจะทำให้ไปเกิดเป็นคนที่มีรูปร่างหน้าตาสวยงาม มีผิวพรรณผ่องใส
  • ให้ทานด้วยความเคารพ เช่น เวลาให้เงินขอทาน ก็โยนใส่ลงไปในขัน เป็นการให้ทานเหมือนกัน แต่ไม่ใช่ให้ทานด้วยความเคารพ ถ้าจะให้ทานด้วยความเคารพ ต้องมีกิริยาอาการที่อ่อนน้อม ต้องอยู่ที่ต่ำกว่าผู้รับ อานิสงส์ของการทำทานด้วยความเคารพจะทำให้บุคคลใกล้ชิด เช่น สามีก็ดี ภรรยาก็ดี บุตรธิดาก็ดี คนรับใช้หรือบริวารก็ดี จะให้ความเคารพนับถือเลื่อมใสศรัทธาเชื่อฟังในตัวเรา
  • ให้ทานตามกาลตามเวลา หมายถึงการทำบุญให้ทานเฉพาะในวันสำคัญๆเช่น วันเกิด วันขึ้นปีใหม่ วันสำคัญทางศาสนา ถ้าไม่มีวันสำคัญเหล่านี้ก็จะไม่ได้ทำ เป็นการทำทานตามกาล อานิสงส์ของผู้ให้ทานตามกาลตามเวลาคือ เวลาเกิดความจำเป็นต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็จะได้สิ่งนั้นๆมาได้ด้วยความง่ายดาย คือมาตามกาลตามเวลาเหมือนกัน ในบางครั้งบางคราวอาจจะมีความขัดสน มีความต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็จะได้สิ่งนั้นมา อาจจะขัดสนเงินทองก็จะมีเงินมีทองขึ้นมา ถ้าไม่มีที่พักก็จะมีที่พักขึ้นมา ไม่มีอาหารรับประทานก็จะมีอาหารขึ้นมา อย่างนี้เป็นต้น เรียกว่าอานิสงส์ของการให้ทานตามกาล
  • ให้ทานด้วยจิตอนุเคราะห์ มีเจตนามุ่งมั่นที่จะให้ความช่วยเหลือแก่ผู้อื่น เห็นคนตกทุกข์ได้ยาก มีความลำบากลำบนก็อยากจะสงเคราะห์ เห็นคนป่วย คนเจ็บ คนแก่ คนชรา คนขอทาน คนที่ประสบกับภัยพิบัติต่างๆ น้ำท่วม ไฟไหม้ ทุกข์ยากลำบาก ก็มีความกรุณา มีความสงสารอยากจะช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ให้แก่คนเหล่านั้น ด้วยการให้สิ่งของต่างๆ อานิสงส์ของทานแบบนี้ ก็คือเมื่อมีทรัพย์แล้ว จะได้ใช้ทรัพย์นั้นอย่างเต็มที่ คือจะไม่มีความรู้สึกเสียดาย ตระหนี่ หวงแหน จนกลายเป็นปู่โสมเฝ้าทรัพย์ไป มีเงินมีทองกลับไม่กล้าใช้ กลัวอด กลัวอยาก กลัวยาก กลัวจน อย่างนี้จะไม่เกิดกับคนที่ให้ทานเพื่อสงเคราะห์ผู้อื่น
  • ให้ทานโดยที่ไม่กระทบตนและผู้อื่น หมายถึงเวลาให้ทาน สิ่งของที่ให้เป็นของที่หามาได้โดยไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับตนเองหรือผู้อื่น หามาได้ด้วยความสุจริต ไม่ได้เกิดจากการฆ่า จากการลักทรัพย์ จากการพูดปดมดเท็จ จากการประพฤติผิดประเวณี ไม่ได้ขายตัวเพื่อเอาเงินมาทำบุญ ไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น ด้วยการยัดเยียด บังคับ ให้ร่วมทำบุญ แจกซองแล้วกำหนดว่าจะต้องใส่ซองเท่านั้นเท่านี้ อย่างนี้เป็นต้น ถ้าทำอย่างนี้แล้วถือว่าเป็นการสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น อานิสงส์ของการทำทานที่ไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับตนเองหรือกับผู้อื่น คือทรัพย์สมบัติเงินทองที่มีอยู่จะไม่สูญไปเพราะภัยต่างๆ เช่นจากไฟไหม้ก็ดี น้ำท่วมก็ดี จากการถูกยึดทรัพย์ก็ดี ถูกโจรขโมยไปก็ดี ถูกลูกหลานล้างผลาญไปก็ดี

เพราะจากอุปนิสัยคนไทยชาวพุทธส่วนใหญ่ ชอบการทำบุญทำทาน สามารถทำได้ทั้งวัน ทุกวัน เพราะการทำบุญทำทานตามที่พระพุทธศาสนาบัญญัติไว้ สามารถทำได้ถึง 10 แบบ ซึ่งเรียกว่าบุญกิริยาวัตถุ คือ

  1. ทานมัย- ทำบุญด้วยการให้
  2. สีลมัย – ทำบุญด้วยการรักษาศีลและประพฤติดี
  3. ภาวนามัย – ทำบุญด้วยการเจริญภาวนา
  4. อปจายนมัย – ทำบุญด้วยการประพฤติอ่อนน้อม
  5. เวยยาวัจจมัย – ทำบุญด้วยการช่วยขวนขวายรับใช้
  6. ปัตติทานมัย – ทำบุญด้วยการด้วยการเฉลี่ยความดีให้แก่ผู้อื่น เช่นการอุทิศส่วนบุญให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว
  7. ปัตตานุโมทนามัย – ทำบุญด้วยการยินดีในความดีของผู้อื่น
  8. ธัมมัสสวนมัย – ทำบุญด้วยการฟังธรรม
  9. ธัมมเทสนามัย – ทำบุญด้วยการสั่งสอนธรรม
  10. ทิฏฐุชุกัมมนามัย – ทำบุญด้วยการทำความเห็นให้ถูกต้อง
เหรียญโปรยทาน
เหรียญโปรยทานงานขาวดำ

สรุป

อย่างไรก็ตามไม่มีพุทธบัญญัติว่าต้องมีการโปรยทานตามงานบวชหรืองานเผาศพแต่อย่างใด ขึ้นอยู่กับเจ้าภาพจะตัดสินใจว่าจะมีหรือไม่มีก็ได้ แต่หากเจ้าภาพมีกำลัง มีฐานะที่จะทำทานนี้ได้ ก็ขอให้ยึดถือประเพณีนี้ต่อไป เพราะยังมีผู้ยากไร้ หรือผู้ที่ต้องการเงินทานเหล่านี้อยู่อีกเป็นจำนวนมาก

 

อ่านแล้วชอบบทความ Sukhogroup (ร้านจำหน่ายของชำร่วยงานศพ) ก็ขอฝากกด Like  เพจด้วยนะครับ จะได้ไม่พลาดบทความดีๆ จากเรา ไว้เจอกันบทความหน้าครับ

 

Reference:
“ อานิสงส์ของการให้ทาน “ ของ www. kammatthana.com/D_66.htm