งานฌาปนกิจ คืออะไร
หากอธิบายถึงความหมายของคำว่า ‘งานฌาปนกิจ’ อย่างเป็นทางการตามความหมายของสำนักงานราชบัณฑิตยสภาจะหมายถึงการเผาศพ ซึ่งถือเป็นพิธีที่ครอบครัวและญาติสนิทมิตรสหายได้มีโอกาสอำลาอาลัยผู้วายชนม์ ดังนั้นการจัดงานฌาปนกิจจึงถือเป็นการบอกลาและการระลึกถึงความดีต่างๆ ที่ผู้ล่วงลับได้เคยทำมา นอกจากนี้ตามประเพณีไทย งานฌาปนกิจยังแฝงไปด้วยคติธรรมและความหมายของชีวิตที่จะทำให้บุคคลอันเป็นที่รักซึ่งอยู่ในความทรงจำมิรู้เลือน ดังนั้นความตั้งใจและการเอาใจใส่ในทุกขั้นตอนถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการส่งผ่านความอาลัยเป็นครั้งสุดท้าย
สารบัญ
- งานฌาปนกิจ คืออะไร
- ขั้นตอนงานฌาปนกิจ
- คำแนะนำตามความเชื่อของงานฌาปนกิจ
- ข้อปฏิบัติและการแต่งกาย เวลาไปงานศพ
หากจำแนกพิธีตามท้องถิ่น งานฌาปนกิจตามแต่ละพื้นที่อาจจะมีความแตกต่างกัน โดยอ้างอิงตามคู่มือการปฏิบัติศาสนพิธีเบื้องต้นงานวิธีการจัดงานฌาปนกิจจากกรมการศาสนาได้มีการแบ่งงานฌาปนกิจออกเป็น 2 แบบดังนี้คือ
- จัดพิธีฌาปนกิจศพหลังจากมีการสวดพระอภิธรรมครบตามจำนวนวันที่จัดไว้แล้ว
- การนำศพที่บรรจุเก็บไว้ เพื่อรอเวลาอันเหมาะสมในการฌาปนกิจ
คำแนะนำ: วันไม่เป็นมงคลตามประเพณีโบราณได้แก่ วันพระ วันอังคารและวันเก้ากอง นอกจากนี้จารีตประเพณีและความเชื่อในแต่ละท้องถิ่นอาจจะแตกต่างกัน ดังนั้นอาจจะเสริมหรือลดขั้นตอนได้ตามความเหมาะสม แนะนำว่าให้ปรึกษากับทางวัดที่ได้มีการจองสถานที่สำหรับการทำพิธีอีกครั้ง
ขั้นตอนงานฌาปนกิจ
พิธีการฌาปนกิจถือเป็นพิธีกรรมที่สำคัญมาก โดยในแต่ละขั้นตอนจะแฝงไว้ด้วยคติธรรมทางศาสนาและความเชื่อ ซึ่งนอกจากจะจัดให้ผู้วายชนม์แล้ว ยังเป็นการสอนให้คนที่ยังมีชีวิตอยู่ได้ตระหนักถึงสติและความสำคัญของการใช้ชีวิตอีกด้วย โดยการฌาปนกิจทั้ง 2 รูปแบบนั้นมีสิ่งสำคัญที่ต้องเตรียมคล้ายกันดังนี้
- ติดต่อวัดเพื่อจองศาลาและจองสถานที่ พร้อมขอทราบแนวทางที่เหมาะสมในเชิงปฏิบัติตามจารีตท้องถิ่น
- เตรียมจตุปัจจัยไทยธรรม ผ้าไตรหรือสบง พร้อมเครื่องกัณฑ์เทศน์
- เตรียมผ้าไตรที่จะใช้บนเมรุในพิธีจุดไฟฌาปนกิจศพ
- เตรียมรายชื่อผู้ที่จะทอดผ้าบังสุกุลบนเมรุและผู้ที่จะเป็นประธานในพิธี
ส่วนใหญ่จะจัดพิธีหลังจากมีการสวดพระอภิธรรมครบวันแล้ว โดยจะมีการนิมนต์พระสงฆ์ 10 รูปหรือไม่ต่ำกว่า 5 รูป จากนั้นจะมีการสวดพระพุทธมนต์ แสดงหลักธรรมและพระธรรมเทศนา มีการถวายจตุปัจจัยไทยธรรม พร้อมเครื่องกัณฑ์เทศน์ต่างๆ แด่พระสงฆ์ นอกจากนี้ยังต้องมีการทำบังสุกุล แล้วจึงค่อยเคลื่อนย้ายศพไปสู่เมรุ หรือในบางพิธีอาจจะมีการสวดมาติกา-บังสุกุลอีกครั้งหนึ่ง ขึ้นอยู่กับความสะดวกของทางเจ้าภาพ
คำแนะนำตามความเชื่อ:
- เพื่อให้เกียรติแก่ผู้ล่วงลับ ก่อนจะทำพิธีฌาปนกิจครอบครัวสามารถเล่าถึงประวัติและคุณงามความดี เพื่อเป็นการระลึกถึงผู้วายชนม์
- การตั้งศพนิยมให้ตั้งโดยหันศีรษะไปทางทิศตะวันตก
- ความเชื่อในการเผาศพแนะนำว่าข้างขึ้นไม่ควรเผาในวันเลขคี่ ส่วนข้างแรมไม่ควรเผาวันเลขคู่
ข้อควรปฏิบัติเวลาไปงานศพ – เครื่องแต่งกาย
- การแต่งกายถือเป็นการให้เกียรติเจ้าภาพ เป็นการสื่อถึงความจริงใจและให้เกียรติ โดยแทบไม่ต้องเอ่ยเป็นคำออกมาก็ โดยทั่วไปการเลือกใส่ชุดสีดำ เทาเข้ม หรือสีขาวถือเป็นสีที่เหมาะสม ส่วนในกรณีที่เป็นนักเรียน นักศึกษา หรือข้าราชการ หากไม่มีเวลาเปลี่ยนชุดก็สามารถสวมใส่ชุดยูนิฟอร์มที่สุภาพเรียบร้อยได้เช่นกัน
- พิธีรดน้ำศพ สำหรับพิธีนี้ส่วนใหญ่มักจะได้รับเชิญจากเจ้าภาพ โดยผู้ที่ได้รับเชิญมักจะเป็นบุคคลที่สนิทคุ้นเคย ตามมารยาทเมื่อไปถึงงานควรกล่าวคำแสดงความเสียใจกับเจ้าภาพ และเมื่อได้รับการเชิญจากเจ้าภาพจึงค่อยเข้าไปรดน้ำศพ
- เลือกที่นั่งที่เหมาะสม ในบางครั้งที่ไปงานศพแล้วไม่แน่ใจ แนะนำว่าที่นั่งแถวแรกๆ ส่วนใหญ่จะเป็นที่นั่งของเจ้าภาพและประธาน ดังนั้นควรเลือกแถวกลางๆ ในลำดับถัดมา หรือหากในงานมีคนมาเชิญก็แนะนำให้นั่งตามที่นั่งที่จัดไว้ให้ อย่าลืมปิดเสียงโทรศัพท์และหลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์ในช่วงพิธีการ
อ่านแล้วชอบบทความ Sukhogroup (ร้านขายของชำร่วยงานฌาปนกิจ อันดับ1ของประเทศไทย) ก็ขอฝากกด Like เพจด้วยนะครับ จะได้ไม่พลาดบทความดีๆ จากเรา ไว้เจอกันบทความหน้าครับ
Reference:
http://www.nabon.go.th/news/doc_download/a_100717_140326.pdf
https://www.m-culture.go.th/phatthalung/ewt_news.php?nid=3314&filename=index
https://www.funeral-plans.online/post/funeral-etiquette