บวชหน้าไฟ คืออะไร (ตอบทุกข้อสงสัย)

บวชหน้าไฟ

สำหรับการบวชหน้าไฟนั้น ผู้คนอาจจะสงสัยว่าคืออะไร มีความสำคัญอย่างไร และมีขั้นตอนในงานอย่างไรบ้าง วันนี้เราจะมาอธิบายให้ฟังอย่างละเอียดให้คุณผู้อ่านหายสงสัย

สารบัญ

บวชหน้าไฟ คืออะไร

ตามประเพณีของชาวพุทธมีความเชื่อว่าการบวชหน้าไฟนั้น ถือเป็นการตอบแทนพระคุณและส่งผู้ล่วงลับไปยังภพภูมิที่ดี ดังนั้นเรามักจะพบเห็นพิธีบวชหน้าไฟอยู่บ่อยครั้งในช่วงพิธีบำเพ็ญกุศลศพ โดยข้อมูลจากวารสาร มหาจุฬานาครทรรศน์ได้อธิบายว่า การบวชหน้าไฟคือ การที่ลูกหลานของผู้ตายได้ทำการบวชให้แก่ผู้ที่ล่วงลับ โดยอาจจะบวชเป็นเณรหรือบวชเป็นพระในวันเผาศพ ซึ่งถือเป็นการบวชเพื่ออุทิศผลบุญและส่วนกุศลให้กับผู้ที่จากไปอย่างไม่มีวันกลับ โดยมีความเชื่อที่ว่าผู้วายชนม์จะได้มีโอกาสเกาะชายผ้าเหลืองขึ้นสวรรค์นั่นเอง นอกจากนี้พระธรรมกิตติวงศ์เจ้าอาวาสวัดราชโอสารามได้อธิบายเพิ่มเติมว่า การบวชหน้าไฟนั้นส่วนใหญ่จะเป็นการบวชระยะสั้นเพียงแค่ 1 หรือ 2 วัน โดยในบางครั้งอาจจะเรียกว่า “สามเณรหน้าไฟ” ก็ได้เช่นกัน

บวชหน้าไฟคืออะไร
ขอบคุณภาพสวยๆจาก www.matichon.co.th

เคยบวชพระแล้วบวชหน้าไฟได้ไหม

เชื่อว่าหลายคนอาจจะมีข้อสงสัยว่าหากเคยบวชพระมาก่อนแล้ว การบวชหน้าไฟจะสามารถทำได้ไหม เนื่องจากความเชื่อดั้งเดิมบอกเอาไว้ว่าการบวชหลายๆ ครั้งเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม เพราะเปรียบเสมือนกับ ‘ชายสามโบสถ์’ ซึ่งเป็นคนที่คบไม่ได้ อย่างไรก็ตามหากมองตามหลักและแก่นแท้ของพระพุทธศาสนาจะพบว่าไม่ได้มีข้อห้ามใดๆ ที่บัญญัติเอาไว้ว่าห้ามบวชพระเกินหนึ่งครั้งหรือห้ามบวชเณรเกินหนึ่งครั้ง แต่สิ่งสำคัญในการบวชไม่ว่าจะกี่ครั้งก็ตามนั้นคือ จิตใจที่ตั้งมั่นบริสุทธิ์และเป็นกุศล ตั้งใจปฏิบัติเรียนรู้ธรรมและตั้งมั่นในการปฏิบัติตามพระวินัย เพียงเท่านี้การบวชหน้าไฟก็จะเกิดประโยชน์กับตนเองและผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว 

บทความแนะนำ >>> ขั้นตอนการบวชพระ 

บวชพระแล้วบวชหน้าไฟได้ไหม
ขอบคุณภาพจาก gossipstar.com

บวชหน้าไฟผู้หญิงเป็นจริงได้ไหม

การบวชหน้าไฟนั้นเป็นการบวชตามจารีตประเพณีและคตินิยม ซึ่งในสิ่งที่ปฏิบัติกันมายาวนานในเมืองไทย การบวชเป็นพระสงฆ์จะมีแต่ในเพศชายเท่านั้น ส่วนการบวชหน้าไฟในผู้หญิงนั้นไม่มีปรากฏแต่อย่างใด โดยทั่วไปผู้หญิงสามารถบวชชีพราหมณ์หรือถือศีลได้ การบวชเป็นพระหรือภิกษุณีนั้น ทางคณะสงฆ์เถรวาทไทยยังไม่ได้ให้การยอมรับ แต่ไม่ต้องเป็นกังวลเพราะหากสตรีต้องการที่จะทำบุญให้แก่บิดามารดา ก็เพียงแต่ปฏิบัติตัวให้อยู่ในศีลในธรรมและแผ่ส่วนกุศลให้บุคคลอันเป็นที่รักที่ล่วงลับไปแล้วก็ได้เช่นกัน

ขั้นตอนการบวชหน้าไฟ
ขอบคุณภาพจาก women.kapook.com

ขั้นตอนการบวชหน้าไฟ

การบวชหน้าไฟในปัจจุบันนั้นมักจะเป็นพิธีสั้นๆ และเรียบง่ายเพื่อให้เข้ากับยุคและสมัย  โดยปกติแล้วในวันที่มีการฌาปนกิจศพนั้น ครอบครัวเจ้าภาพมักจะทำการบำเพ็ญกุศลอุทิศให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งกระบวนการบวชหน้าไฟจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในช่วงเวลาแบบนี้ เบื้องต้นจะมีการ “บวชหน้าไฟ” ซึ่งเป็นการจัดพิธีบวชให้ลูกหลานเป็นพระภิกษุหรือสามเณร โดยจะมีลำดับขั้นตอนที่สำคัญดังต่อไปนี้

  • เรื่องแรกถือเป็นเรื่องสำคัญมาก นั่นคือการขอความสมัครใจและความยินยอมพร้อมใจจากลูกหลาน ซึ่งเป็นผู้ที่จะบวชให้แก่ผู้ล่วงลับ เพราะเชื่อกันว่าหากผู้ที่มาบวชหน้าไฟนั้นไม่เต็มใจก็จะขาดศรัทธาและทำให้ไม่สามารถถือศีลและบำเพ็ญบุญได้อย่างเต็มที่ 
  • ติดต่อและแจ้งวัดที่จะทำการบวชให้ทราบถึงความต้องการเพื่อกราบอาราธนาขออนุญาตพระอุปัชฌาย์ 
  • ในวันบวชญาติพี่น้องมาพร้อมกันเพื่อร่วมทำบุญและร่วมกันบวชหน้าไฟ โดยจะมีการโกนผม โกนหนวดและโกนคิ้วให้แก่นาค
  • ทำการขอลาสิขาจากญาติพี่น้องรวมถึงพ่อแม่
  • ทำพิธีเวียนรอบโบสถ์เป็นจำนวน  3 รอบ

สรุป

แม้จะเป็นการบวชในช่วงสั้นๆ แต่แก่นแท้ของการบวชหน้าไฟนั้นเป็นการมุ่งเน้นให้ผู้บวชได้เรียนรู้ธรรมและสามารถปฏิบัติตนตามพระธรรมวินัยได้อย่างเคร่งครัด โดยทั้งหมดนี้ต้องเป็นไปด้วยความตั้งใจและความสมัครใจของผู้บวชเองด้วย ส่วนในการอุทิศส่วนกุศลผลบุญไปยังญาติผู้ล่วงลับก็ถือเป็นความเชื่อและความสบายใจ ซึ่งหากผู้บวชสามารถเจริญสติปัญญาและมุ่งมั่นตั้งใจจริง อานิสงส์จากความตั้งใจก็จะเป็นกุศลผลบุญส่งไปยังผู้วายชนม์ด้วยเช่นกัน

อ่านแล้วชอบบทความ Sukhogroup (ร้านจำหน่ายของชำร่วยงานบวช) ก็ขอฝากกด Like  เพจด้วยนะครับ จะได้ไม่พลาดบทความดีๆ จากเรา ไว้เจอกันบทความหน้าครับ

 

Reference:

https://www.komchadluek.net/amulet/151297 

http://www.bansangarun.com/562.html 

https://bit.ly/3viLMPu 

https://www.dhammahome.com/webboard/topic/24199 

https://www.the101.world/female-buddhist-monk/ 

https://bit.ly/3ElAZbq