ทำบุญ100วัน แก่ผู้ล่วงลับ (ฉบับสมบูรณ์)
“ปุพเพเปตพลี” หรือ การทำบุญอุทิศเเก่ผู้ตายเป็นขั้นตอนทางศาสนาพุทธที่มีมาตั้งเเต่สมัยพุทธกาล ประเพณีงานศพเป็นประเพณีที่เต็มไปด้วยขั้นตอนทางศาสนาที่ละเอียดอ่อน หนึ่งในขั้นตอนที่สำคัญคือ การทําบุญครบรอบวันเสียชีวิต 100 วัน
โดยตามความเชื่อของศาสนาพุทธเเล้ว ความตายไม่ใช่จุดสิ้นสุด หากเเต่เป็นส่วนหนึ่งใน สังสารวัฏ การทำบุญอุทิศส่วนกุศลเเก่ผู้ล่วงลับจึงเหมือนเป็นจุดเริ่มต้นของการข้ามไปสู่ภพภูมิใหม่ที่เป็นสุขคติ “บุญ” จึงถือเป็นเครื่องพึ่งพาทางใจที่ผู้ล่วงลับสามารถนำติดตัวไปที่ปรโลกได้
ของชำร่วยงานทำบุญ100วัน
หลักการนับวันทำบุญ
พุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่นิยมเลือกเอาวันมงคลเป็นฤกษ์ในการทำกุศล เช่นเดียวกับการทำบุญครบรอบวันเสียชีวิต หลักการนับวันทำบุญ 100 วันนับจากวันที่เสียชีวิต ตามหลักในประเพณีที่สืบทอดกันมาสามารถทำได้ 3 วาระ ตั้งเเต่ในช่วง 7 วัน (สัตมวาร) 50 วัน (ปัญญสมวาร) จนถึง 100 วัน (สตมวาร)
ตามความเชื่อเรื่องการละสังขาร สภาพวะอันเป็นสมาธิของผู้ล่วงลับเป็นหัวใจสำคัญในการละโลก การหมดห่วงในคนรัก ครอบครัว ญาติมิตร เเละสิ่งนอกกาย การทำจิตให้ผ่องใส นึกถึงความดีที่ได้ทำมา จะทำให้ผู้ล่วงลับได้พบกับสุคติที่เเท้จริง ในช่วง 7วันนี้ ญาติสามารถทำบุญส่งกระเเสจิตได้เพราะ มีความเชื่อว่า หากผู้ตายยังมีห่วงจะได้หายห่วง เเละ เดินทางไปปรโลกได้อย่างสุคติ
การทำบุญ 50 วัน ตามหลักความเชื่อเรื่องบุญ กรรม เเล้วนั้น เรียกง่ายๆว่า เป็นช่วงผ่อนหนักเป็นเบา หากผู้ล่วงลับจิตไม่สงบผ่องใส กระทำกรรมไม่ดีไว้เยอะ การทำบุญในช่วงนี้ก็จะช่วยไม่ให้ต้องไปรับกรรมที่หนักในอบายภูมิ การทำบุญในช่วง 50 วัน ญาติมิตรเเละครอบครัวที่จะอุทิศกุศลให้ต้องทำจิตใจให้สงบ เเละ ตั้งจิตให้เป็นสมาธิ อธิษฐานให้เเรงกล้าเพราะยังถือเป็นช่วงเวลาที่ผู้ล่วงลับยังสามารถรับบุญได้อยู่
การทำบุญ 100 วัน หรือ สตมวารก็เช่นกัน โดยตามความเชื่อเเล้ว ช่วงนี้เป็นช่วงที่เหมาะสมในการทำบุญครั้งใหญ่ที่สุดเพราะเป็นช่วงที่ผู้ล่วงลับต้องรับผลกรรมที่ทำไว้ในชาติที่มีชีวิตอยู่ จึงถือเป็นขั้นตอนการทำบุญให้ผู้ล่วงลับในช่วงที่สำคัญ
คำกล่าวในพิธีทำบุญ100วัน
ตามที่ได้กล่าวถึงในหลักการนับวันทำบุญ ผู้ทำกุศลสามารถประยุกษ์ใช้ได้ตาม 3 วาระ ที่ทำเช่น “กำหนดการทำบุญบำเพ็ญกุศลสตมวาร” ที่หมายถึง การทำบุญ 100 วัน ตามหลักพิธี เเละใช้ “เนื่องในการทำบุญครบรอบสตมวารของนาย/นาง…ขออาราธนาพระคุณเจ้าไปสวดพระพุทธมนต์และฉันภัตตาหารเพล…”
ทำบุญ100วัน ใส่เสื้อสีอะไร
วัดเป็นสถานที่ศักดิสิทธ์ ในวันทำบุญครบรอบวันเสียชีวิตโดยมากเเล้วไม่นิยมเเต่งดำไว้ทุกข์เเล้ว ส่วนมากจะเลือกสีขาวเป็นสีหลัก เเต่ทั้งนี้ยังต้องเป็นการเเต่งกายด้วยสีที่สะอาดตาไม่ฉุดฉาดเเละไม่รัดรูปจนทำให้ลุกนั่งลำบากในขณะทำพิธี
ขั้นตอนเเละการเตรียมตัวทำบุญ100วัน
ตามขั้นตอนการทำบุญครบรอบการเสียชีวิต ทางศาสนาพุทธเเบ่งขั้นตอนได้เป็น 1 วัน เเละ 2 วัน โดยการทำบุญเเบบทั้ง 1เเละ 2 วัน ผู้ทำบุญในครอบครัวนิยมนิมนต์พระตั้งเเต่ 5 รูป 7 รูป เเละ 9 รูป ถ้าเป็นงานบุญครบรอบวันเสียชีวิตที่จัดที่บ้าน เจ้าภาพจะต้องคำนึงถึงเรื่องรายการอาหารเลี้ยงพระ เเละ เเขกที่มาร่วมงานด้วย
นอกจากเรื่องอาหารที่จะถวายพระเเละเลี้ยงเเขกเเล้ว การตระเตรียมสถานที่ให้เหมาะสมก็สำคัญ เช่น การเตรียมรถรับส่งพระ การตั้งโต๊ะหมู่บูชา ถ้าจะตั้งรูปถ่ายผู้เสียชีวิตให้ตั้งต่ำกว่าพระพุทธรูปจัดเเยกโต๊ะจากโต๊ะหมู่บูชา ตามด้วยการจัดเรียงอาสนะนั่งเทศน์ให้พระสงฆ์ สังฆทาน สายสิญจน์ เครื่องไทยธรรม ดอกไม้ อุปกรณ์กรวดน้ำ ถ้าให้ดีเจ้าภาพควรเตรียมงานก่อนหนึ่งวันในกรณีที่ต้องการความช่วยเหลือเรื่องลำดับพิธีทางศาสนาเช่น ต้องการคนนำอาราธนาศีล หรือ การขอน้ำมนต์รดเเขกเเละบ้านที่จะใช้หลังพิธีจากพระเป็นต้น
การทำบุญเเบบ 2 วัน ต่างจาก พิธี 1 วันตรงที่ในพิธี 1 วัน จะเป็นการเลี้ยงเพล โดยผู้ร่วมพิธีควรเตรียมตัวเข้าร่วมตั้งเเต่ 10.30 พระจะเริ่มพิธีสวดในเวลา 11 นาฬิกา เเละจะฉันเพลตอนเที่ยง พิธี 2 วัน จะเริ่มพิธีตอนเย็นโดยเริ่มจากการสวดพุทธมนต์ เเละ เลี้ยงเพลในวันรุ่งขึ้น ลำดับงานเหมือนกันเเต่ระยะเวลา เน้นเอาฤกษ์สะดวกจากเจ้าภาพผู้จัดงานเป็นหลัก
การจัดสังฆทานทำบุญ100วัน
- ซองปัจจัยในการบำเพ็ญภาวนาขัดเกลาสำรอกกิเลส
- ผ้าไตรจีวร
- ของเครื่องใช้ส่วนตัวของพระสงฆ์
- ข้าวสารอาหารเเห้ง
- ยาสามัญประจำบ้าน
- ร่ม
คำถวายสังฆทาน
อิมานิ มะยัง ภันเต มะตะกะภัตตานิ สะปะริวารานิ ภิกขุสังฆัสสะ โอโนชะยามะ สาธุ โน ภันเต ภิกขุสังโฆ อิมานิ มะตะกะภัตตานิ สะปะริวารานิ ปะฎิคคันหาตุ อัมหากัญเจวะ มาตาปิตุ อาทีนัญจะ ญาตะกานัญจะ กาละกะตานัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวาย ซึ่งมะตะกะภัตตาหาร กับทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านี้ แด่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับ มะตะกะภัตตาหาร กับบริวารทั้งหลายเหล่านี้ของข้าพเจ้าทั้งหลาย เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข แก่ญาติของข้าพเจ้าทั้งหลาย มีมารดาบิดา และอุทิศแด่ผู้ล่วงลับไปแล้ว (เอ่ยชื่อ-นามสกุลผู้ตาย) เป็นต้นด้วย สิ้นกาลนานเทอญฯ
บทสวดกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศล
การกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้ผู้เสียชีวิตในขั้นตอนสุดท้ายของพิธี ตามความเชื่อของศาสนาพุทธมีความเชื่อว่า น้ำ หรือ การเทน้ำ เป็นการเเสดงความเสียสละ เป็นหนึ่งในอุบายที่ทำให้ผู้ร่วมงานตั้งจิตให้เป็นสมาธิ เพื่อที่จะส่งกระเเสบุญไปถึงผู้ล่วงลับอย่างมีสติ
อิทังเม ญาตินัง โหตุ สุขิตา โหนตุ ญาตะโญ
ขอบุญนี้ จงสำเร็จเเก่ญาติทั้งหลายของข้าพเจ้าเถิด ขอให้ญาติทั้งหลายของข้าพเจ้าจงมีความสุข
สรุป
การทำบุญตามหลักพระพุทธศาสนาเป็นการทำจิตใจให้ผ่องใส ทำนุบำรุงคำสั่งสอนที่ดีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า การได้สนับสนุนเนื้อนาบุญที่ดีย่อมเป็นกุศลต่อผู้ทำ เเม้ว่าตามประเพณีที่ยึดกันตามหลักความเชื่อจะกำหนดวาระที่เป็นมงคลในการจัดงานบุญครบรอบวันเสียชีวิตของผู้ตายไว้ เเต่ได้ชื่อว่าทำบุญทำกุศล ย่อมไม่จำเป็นต้องเน้นเพียงโอกาสเดียว เพราะการอุทิศบุญที่ทำไว้ดีเเล้วเหมือนการให้เเสงสว่างทั้งแก่ผู้ที่ยังอยู่เเละผู้ล่วงลับไปเเล้วนั่นเอง