การถวายผ้าไตรจีวร (ตอบทุกข้อสงสัย)

การถวายผ้าไตรจีวร

#ตอบทุกข้อสงสัยเกี่ยวกับการถวายผ้าไตรจีวร

ในวันนี้ ร้านสุโข (ร้านขายของชำร่วยงานศพ) จะมีอธิบายการเลือกซื้อผ้าไตรจีวรถวายพระภิกษุ เป็นปัญหาใหญ่สำหรับหลายๆคน วันนี้ปัญหาเหล่านั้นจะหมดไปเพราะทางเราได้รวบรวมคำตอบมาไว้ในบทความนี้แล้ว

สารบัญ

ผ้าไตรจีวร คือ เครื่องนุ่งห่มของพระภิกษุ ในสมัยพุทธกาลการจะหาผ้ามาตัดเย็บเป็นเครื่องนุ่งห่มทำได้ยากมาก พระภิกษุต้องเก็บผ้าที่เปื้อนฝุ่นตามถนน ผ้าสกปรกจากกองขยะ หรือแม้กระทั่งจากผ้าห่อศพในป่าช้า เมื่อได้ผ้าเหล่านั้นมาแล้ว พระอานนท์จึงได้เป็นผู้ออกแบบการตัดเย็บ

โดยให้พระภิกษุเอาผ้ามาตัดเป็นสี่เหลี่ยมผืนเล็กๆ และเย็บปะติดปะต่อกันจนได้เป็นลายคันนาตามที่พระอานนท์ได้ออกแบบ แล้วนำไปซักให้สะอาดและย้อมให้เป็นสีเดียวกันด้วยสีตามธรรมชาติ เช่น สีจากเปลือกไม้ แล้วอธิษฐานใช้เป็นจีวร จึงเรียกผ้านั้นว่า “ ผ้าบังสุกุล “ หรือ ผ้าป่า”

ถึงแม้ “ ผ้าบังสุกุลจีวร “ จะเป็นผ้าที่ไม่มีใครอยากได้ แต่ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญมาก สำหรับพระภิกษุ เพราะใช้เป็นเครื่องนุ่งห่มเพื่อป้องกันความร้อน ความหนาว อันเกิดจากดินฟ้าอากาศและสัตว์พวกเหลือบ ยุง หรือสัตว์เลื้อยคลานทั้งหลาย รวมทั้งใช้ปกปิดอวัยวะเพื่อไม่ให้เกิดความละอาย

แต่จุดมุ่งหมายที่แท้จริงก็คือ เพื่อให้เป็นผู้มีความสันโดษมักน้อย มีสติสัมปชัญญะ เป็นผู้เลี้ยงง่าย อยู่ง่ายเพราะพระภิกษุยังชีพอยู่ได้เพราะชาวบ้านและต้องไม่สร้างปัญหาความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านรวมทั้งที่อยู่อาศัยก็ให้เป็นไปตามอัตภาพ ตามสมณสารูปของพระภิกษุเท่านั้น

เดิมพระพุทธเจ้าและพระภิกษุใช้เครื่องนุ่งห่มเพียง 2 ผืน คือจีวร ( ผ้าห่ม ) และสบง ( ผ้านุ่ง ) เท่านั้น แต่เมื่อคราวที่พระองค์ทรงห่มจีวรผืนเดียวประทับอยู่กลางแจ้ง ทรงพิจารณาเห็นว่า “ พวกภิกษุที่ทนหนาวไม่ได้ ถ้าห่มผ้าซ้อนอีกจะพอทนได้ จึงทรงอนุญาตให้พระภิกษุใช้ผ้าจีวร ซ้อนเป็น 2 ชั้นได้ หลังจากนั้นเครื่องนุ่งห่มของพระภิกษุจึงเป็น 3 ผืน ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า “ ไตรจีวร “ อันได้แก่

  1. จีวร ( อุตราสงค์ ) คือ ผ้าใช้สำหรับห่ม
  2. สบง (อันตรวาสก ) คือ ผ้าใช้สำหรับนุ่งเป็นผ้าสี่เหลี่ยมเหมือนผ้าขาวม้าแต่กว้างกว่า ตามพระวินัยกำหนดการนุ่งไว้คือ ด้านบนนุ่งปิดสะดือ แต่ไม่ถึงกระโจมอก ด้านล่างปิดหัวเข่าทั้งสองลงมาเพียงครึ่งแข้ง ไม่ถึงกรอมข้อเท้า การนุ่งอย่างนี้เรียกว่า นุ่งเป็นปริมณฑล
  3. อังสะ คือ ผ้าที่ภิกษุสวมเฉวียงบ่า คล้ายห่มสไบเฉียงของผู้หญิงหรือเสื้อกล้ามของผู้ชายคือมีบ่าด้านเดียว เย็บติดกันด้านหนึ่ง อีกด้านหนึ่งติดกระดุมบ้าง ติดสายสำหรับผูกให้กระชับในเวลาสวมบ้าง ติดกระเป๋าไว้ด้านหน้าบ้าง ด้านที่เย็บติดกันบ้าง เวลาใช้ สวมปิดบ่าซ้าย เปิดบ่าขวา
    สมัยพุทธกาลไม่ปรากฏว่ามีการใช้ผ้าอังสะ แม้แต่ในประเทศไทยพระภิกษุสมัยเก่าก็ไม่นิยมสวมอังสะ คงถือคติแบบชายไทยสมัยโบราณที่ไม่นิยมสวมเสื้อเวลาอยู่ตามลำพัง แต่ปัจจุบันพระภิกษุจะสวมใส่อังสะ ขณะอยู่ตามลำพังหรือทำงาน เพื่อไม่ให้ดูเปลือยกายท่อนบน
  4. สังฆาฏิ คือ ผ้าผืนใหญ่เหมือนจีวร หากอากาศหนาวจะใช้ห่มซ้อนอีกชั้นหนึ่งเพื่อป้องกันความหนาว แต่ถ้าอากาศไม่หนาวก็ใช้พับและพาดบนบ่า จึงเรียกอีกชื่อว่าผ้าพาดบ่า
  5. ผ้ารัดอก คือ ผ้าใช้สำหรับรัดรอบเอวหรืออกเมื่อเวลาห่มดอง ( คือการห่มผ้าของพระภิกษุสามเณรแบบหนึ่ง โดยห่มเฉวียงบ่าคือเปิดบ่าขวา ปิดบ่าซ้าย พาดสังฆาฏิแล้วคาดอกด้วยผ้ารัดอก )
  6. รัดประคด ( หรือประคดเอว หรือผ้าประคดรัดเอว หรือกายพันธน์ ) คือ เครื่องคาดเอวหรือสายคาดอกของพระภิกษุสามเณร
    -ถ้าใช้รัดเอว นิยมใช้ด้ายถักเป็นแผ่นเหมือนเข็มขัด มีสายโยงสำหรับผูกทั้งสองข้างยาว
    ประมาณ 1 ½ ถึง 2 เมตร เรียกว่า ประคดเอว
    -ถ้าใช้รัดอกนิยมใช้เป็นผ้าหนาๆ พับสองชั้นกว้างประมาณ 15 เซนติเมตร ยาวประมาณ
    ประมาณ 1 ½ ถึง 2 เมตร เรียกว่า ประคดอก หรือ ผ้ารัดอก
  7. ผ้าประเคน ( หรือผ้ากราบ ) คือ ผ้าพับที่พระสงฆ์บวชใหม่ใช้รองกราบพระ แต่พระทั่วไปจะใช้ผ้ากราบเวลารับประเคนของจากสตรี

ไตรครอง 5 ขันธ์ / จีวร 5 ขันธ์ คืออะไร

ไตรครอง5 ขันธ์ คือ ผ้าไตรจีวรทั้งแบบมี 3 ชิ้นและ 7 ชิ้น ตามที่กล่าวข้างต้น ส่วนคำว่า 5 ขันธ์คือ ผ้าตัดเป็นชิ้นจำนวน 5 ชิ้นมาเย็บต่อกันเพื่อเป็นผ้าจีวรเต็มผืน ส่วนมากจะเป็นผ้าไตรจีวรที่พระภิกษุสายมหานิกายใช้

ไตรครอง 9 ขันธ์ / จีวร 9 ขันธ์ คืออะไร

ไตรครอง 9 ขันธ์ คือ ผ้าไตรจีวรทั้งแบบมี 3 ชิ้นและ 7 ชิ้น ตามที่กล่าวข้างต้น ส่วนคำว่า “ 9 ขันธ์คือ ผ้าตัดเป็นชิ้นจำนวน 9 ชิ้นมาเย็บต่อกันเพื่อเป็นผ้าจีวรเต็มผืน ส่วนมากจะเป็นผ้าไตรจีวรที่พระภิกษุสายธรรมยุตนิกายใช้

ผ้าไตรจีวรมีกี่สี

ผ้าไตรปัจจุบันมีหลายสี ขึ้นอยู่กับข้อกำหนดของแต่ละวัดเช่น

  • สีเหลืองทองหรือสีเหลืองส้ม

จะพบเห็นได้ทั่วไปตามวัดมหานิกาย เช่น
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร
วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร
วัดชลประทานรังสฤษฎ์
วัดบัวขวัญ ( จ.นนทบุรี )
วัดสวนดอก ( จ. เชียงใหม่ )
วัดอินทาราม ( จ.สมุทรสงคราม )

  • สีกรักหรือสีน้ำหมาก สีแก่นบวร, สีแก่นขนุน

จะพบเห็นได้ทั่วไปตามวัดป่าสายธรรมยุต เช่น
วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร
วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร
วัดตรีทศเทพวรวิหาร
วัดเครือวัลย์วรวิหาร
วัดมัชฌันติการาม
วัดป่าบ้านตาด

  • สีพระราชทาน ( หรือสีพระราชนิยม )

เป็นสีกลางที่รัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานให้พระภิกษุใช้ในวัดอารามหลวงและออกงานพิธีสำคัญและให้ใช้ได้ทุกวัดในประเทศไทยทุกนิกายทั้งมหานิกายและธรรมยุติกนิกาย เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย

กรณีที่ไม่แน่ใจว่าจะซื้อไตรจีวรสีใดดี ขอแนะนำให้ซื้อสีพระราชทาน ( หรือสีพระราชนิยม ) ไว้ก่อนเพราะพระภิกษุทุกรูปต้องใช้สีนี้อย่างแน่นอน

การถวายผ้าไตรหมายถึงอะไร

การถวายผ้าไตร หมายถึง การจัดหาผ้าจำนวน 3 ชิ้นหรือ 7 ชิ้นมาถวายพระภิกษุเพื่อให้พระภิกษุใช้เป็นเครื่องนุ่งห่ม
ผ้า 3 ชิ้นคือ จีวร สบง และสังฆาฏิ ซึ่งเรียกว่า ผ้าไตรจีวร เพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน

ส่วนผ้า 7 ชิ้นคือ จีวร สบง สังฆาฏิ อังสะ ผ้ารัดอก รัดประคด และผ้ากราบ เพื่อใช้เวลาออกนอกสถานที่หรือเวลาประกอบศาสนกิจหรือเป็นผ้าไตรของพระภิกษุที่พระอุปัชฌาย์มอบให้ในวันบวช ซึ่งเรียกว่า ไตรเต็มหรือไตรครบชุด หรือไตรเอก

สิ่งที่ควรต้องรู้ต่อไปเพื่อให้พระภิกษุได้รับผ้าไตรอย่างดีที่สุดคือ ขนาด เนื้อผ้า และสี ซึ่งผลที่ตามมาจะทำให้ท่านได้รับผลบุญอย่างเต็มที่

ขนาดมาตรฐานของผ้าไตรจีวรมีดังนี้

  • ขนาด 1.80 เมตร เหมาะสำหรับพระภิกษุสูงประมาณ 145-160 ซม.
  • ขนาด 1.90 เมตร เหมาะสำหรับพระภิกษุสูงประมาณ 160-175 ซม.
  • ขนาด 2.00 เมตร เหมาะสำหรับพระภิกษุสูงประมาณ 175-190 ซม.

เนื้อผ้า มีเนื้อผ้าหลายชนิดให้เลือก เช่น

  • ผ้าโทเร ราคาถูกที่สุด ทำจากเส้นใยฝ้ายธรรมชาติ 35 % กับเส้นใยสังเคราะห์โพลีเอสเตอร์ประมาณ 65 % มีคุณสมบัติด้านการซับน้ำจะไม่ค่อยดีเท่าที่ควร หากสวมใส่ในพื้นที่ภูมิอากาศร้อนชื้นจะไม่ซับเหงื่อได้ดีนัก เนื้อผ้าหยาบไม่นิ่ม คืนตัวจากการยับย่นได้ดี ดูแลรักษาง่าย ตากได้ในที่ร่ม โดยไม่เกิดกลิ่นอับชื้น พระส่วนใหญ่ก็ชอบเพราะนุ่งห่มง่าย ซักทำความสะอาดง่าย ใช้เพียงผงหรือน้ำยาซักผ้าธรรมดาได้ตามปรกติ สีไม่ตก
  • ผ้ามัสลิน ราคาปานกลาง ใช้ได้ดี เหมาะกับประเทศไทย ที่อากาศร้อนแห้งแล้ง พระภิกษุส่วนใหญ่จะชอบมากเพราะเนื้อผ้านิ่มนุ่มนวล สวมใส่แล้วเย็นสบาย มีน้ำหนัก ห่มง่ายทิ้งตัวได้ดี ดูดซับเหงื่อและระบายอากาศได้เป็นอย่างดี ซักแล้วแห้งง่าย ใช้ทน การซักผ้าด้วยผงหรือน้ำยาซักผ้าต้องระมัดระวัง
  • ผ้าซันฟอไรซ์ ราคาปานกลาง เนื้อผ้าหนากว่ามัสลิน จึงมีความคงทนกว่าผ้ามัสลิน
  • ผ้าฝ้าย ราคาค่อนข้างสูง มีความหนา แต่ก็เป็นธรรมชาติ แห้งยากกว่า เหมาะกับอากาศหนาว ซับเหงื่อได้ดี นุ่งห่มได้สบาย ไม่ร้อน
  • ผ้าไหม ราคาสูง เนื้อผ้านุ่มลื่นเป็นเงา ดูแลรักษายาก เหมาะสำหรับถวายพระภิกษูผู้ใหญ่ที่มีสมณศักดิ์

 

หากท่านต้องการเลือกซื้อผ้าไตรจีวรมาถวายพระภิกษุแบบไม่เจาะจง ขอแนะนำให้เลือกผ้าไตรจีวรขนาดความสูง 1.90 หรือ 2.00 เมตร , เนื้อผ้าโทเร และ สีพระราชทาน ( แต่ถ้าหากมีเวลาสามารถสอบถามพระภิกษุของวัดที่จะซื้อไปถวายเพื่อที่จะได้ซื้อผ้าไตรจีวรได้ถูกต้อง โดยเฉพาะสี เพราะข้อกำหนดเรื่องสีของแต่ละวัดไม่เหมือนกัน )

การรู้เคล็ดลับเล็กๆน้อยๆจะทำให้เกิดการใส่ใจในการเลือกซื้อผ้าไตรจีวรถวายพระภิกษุตามวัดของแต่ละนิกายได้ทุกโอกาส เช่น ทำบุญวันเกิด ทำบุญขึ้นบ้านใหม่ ทำบุญแก้กรรม ทำบุญวันสวดศพ ทำบุญวันเผาศพ ทำบุญสังฆทานอุทิศให้ผู้ล่วงลับ จะทำให้เกิดความมั่นใจได้เลยว่า จะเกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ทั้งผู้ให้และผู้รับ

คือผู้ให้จะสามารถส่งมอบผ้าไตรจีวรที่ดี ถูกต้องตามพระธรรมวินัยและเหมาะสมให้กับพระภิกษุได้จริง และผู้รับคือพระภิกษุ จะนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง ไม่ต้องบริจาคต่อให้กับพระภิกษุองค์อื่น ผู้ให้ก็จะเกิดความอิ่มเอมเปรมปรีดิ์สมกับที่ตั้งใจซื้อถวายเป็นอันดับแรก สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ จะได้รับอานิสงส์ที่ยิ่งใหญ่คือ

  • จะเป็นผู้ที่พร้อมด้วยเสื้อผ้า อาภรณ์ และเครื่องประดับ
  • มีแต่ผู้คนให้ความเคารพยกย่อง มีเกียรติ เป็นที่ยอมรับของคนทุกหมู่เหล่า
  • เมื่อใดก็ตามจะต้องพบกับความมีอุปสรรค อุปสรรคนั้นจะผ่านพ้นไปด้วยดี ภยันตรายอื่นๆอย่างสัตว์มีพิษและของมีคมต่างๆก็ทำร้ายไม่ได้
  • อานิสงส์ที่จะเกิดขึ้นในชาติหน้า จะเกิดมาเป็นผู้ที่มีความเพียบพร้อมด้วยหน้าตาที่งดงามและสติปัญญาที่น่านับถืออย่างยิ่ง

ขั้นตอนการถวายผ้าไตรจีวร

การถวายผ้าไตรจีวรแก่พระภิกษุสามารถถวายได้ทุกวัดและถวายได้ตลอดทั้งปี และทุกโอกาส สามารถทำได้ง่ายๆดังนี้

  • ถ้าตั้งใจถวายผ้าไตรจีวรอย่างเดียว ก็ให้จัดหาผ้าไตรจีวรที่เหมาะสมทั้งขนาด เนื้อผ้าและสี แล้วนำเข้าไปถวายแก่พระภิกษุเท่านี้ก็สำเร็จสมกับความตั้งใจแล้ว
  • ถ้าตั้งใจถวายสังฆทานด้วยแต่ไม่มีเวลา ก็ให้ซื้อชุดสังฆทานที่ทางร้านจัดเตรียมไว้ หรือถ้ามีเวลาก็ให้สอบถามทางวัดก่อนว่า ทางวัดขาดอะไร ต้องการอะไร ก็เลือกซื้อสิ่งของตามนั้นพร้อมกับถวายผ้าไตรจีวรได้พร้อมกันเลย
  • ถ้าตั้งใจทำบุญเลี้ยงพระด้วย ก็ให้เตรียมอาหารคาว หวาน น้ำดื่มและผ้าไตรจีวรถวายพร้อมกันเลย

อานิสงส์ของการถวายผ้าไตรจีวร

พระพุทธเจ้าตรัสว่าการทำบุญให้ประกอบด้วยความดี 3 อย่างคือ

  • วัตถุทานดี เช่นสิ่งของที่จะให้ต้องเป็นของดีมีคุณภาพไม่จำเป็นต้องเป็นของใหม่หรือราคาแพง แต่ใช้งานได้จริง เช่นอาหารก็บริโภคได้ เสื้อผ้าก็นุ่งห่มได้
  • เจตนาดี เช่น เจ้านายพูดกับคนขับรถพร้อมให้เงินไปทานข้าวแบบสุภาพพร้อมกับตบไหล่เบาๆ ไม่ได้โยนเงินให้
  • สถานที่รับหรือบุคคลที่จะรับดีเช่น คนรับนำทรัพย์สินที่ได้ไปใช้ในทางที่ถูกต้อง

ดังนั้น หากมีความตั้งใจที่จะถวายผ้าไตรจีวรให้กับพระภิกษุ ก็ขอให้ซื้อผ้าไตรจีวรผืนใหม่ที่ดีและถูกต้องตามข้อกำหนดของแต่ละวัด ทั้งเนื้อผ้า ขนาด และสี เพื่อที่พระภิกษุจะได้นำไปใช้ได้จริง

เพราะจุดประสงค์ในการถวายผ้าไตรจีวรนั้น เพื่อให้พระภิกษุทั้งหลายได้นุ่งห่มเพื่อปกป้องอากาศทั้งร้อนและหนาว ไม่ให้ป่วยไข้ได้ แถมยังป้องกันอันตรายจากสัตว์ต่างๆ และของมีคมทั้งหลายด้วย

คำถวายผ้าไตรที่ถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนา

อิมานิ มะยังภันเต ติจีวรานิ สะปะริวารานิ
ภิกขุสังฆัสสะ โอโณชะยามะ สาธุโน ภันเต
ภิกขุสังโฆ อิมานิ ติจิวรานิ สะปะริวารานิ
ปะฏิคคัณหาตุ อัมหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ

ข้าแต่พระภิกษุสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวาย ผ้าไตรจีวร
พร้อมกับของที่เป็นบริวารทั้งหลายเหล่านี้ แก่พระภิกษุสงฆ์
ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับ ผ้าไตรจีวร พร้อมกับของที่เป็นบริวาร ทั้งหลายเหล่านี้
ของข้าพเจ้าทั้งหลาย เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข เพื่อความเจริญรุ่งเรือง
แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนาน…. เทอญ

อ้างอิงจาก
• วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี https://www.wikipedia.org
• Youtube ตอน “ คำถวายผ้าไตรจีวรที่ถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนา” โดยหลวงพ่อสอน สถานปฏิบัติธรรมแห้ง ที่ 4 จ.สระแก้ว วัดคลองหาด
• Youtube ตอน “ อานิสงค์ของการถวายผ้าไตร “ของธรรมะออนไลน์
• Youtube ตอน “ ทำบุญแบบไหนถึงได้อานิสงส์มาก “ โดยพระครูศรีปริยัติวิสุทธ์ ( หลวงพ่อโกวิท ) รองเจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา เจ้าอาวาสวัดด่านใน

สรุป

สุดท้ายนี้ ผมอยากบอกให้ผู้อ่านทุกท่านที่มีความตั้งใจจะซื้อผ้าไตรจีวร เพื่อถวายพระภิกษุ ไม่ว่าจะโอกาสอะไร ขอให้ทุกท่านพิจารณาซื้ออย่างรอบคอบตามกำลังศรัทธาและความสามารถของแต่ละท่านเพราะเครื่องนุ่งห่มของพระภิกษุในสมัยพุทธกาล ก็มาจากผ้าบังสุกุล แต่ปัจจุบันได้มีวิวัฒนาการเป็นผ้าสำเร็จรูปหลากหลายทั้ง ขนาด เนื้อผ้า และสี ทำให้สามารถซื้อไปถวายทำบุญได้ทุกเมื่อที่ต้องการ หากเรามีกำลังพอที่จะซื้อขนาดที่เหมาะสม เนื้อผ้าอย่างดี และสีที่ถูกต้องตามวัดที่จะไปถวายก็จะเป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าพร้อมแต่ศรัทธา แต่ความสามารถไม่พร้อม ก็ขอให้เลือกซื้อได้ตามอัธยาศัย ไม่ต้องเครียด ขอให้มีจิตอันเป็นกุศล คือ ตั้งใจดี ทั้ง ก่อนให้ ขณะให้ และ หลังให้ ก็จะบังเกิดแต่สิ่งดีๆเข้ามาในชีวิตครับ

สามารถดูรายละเอียดเกี่ยวกับสินค้าผ้าไตรจีวรได้ที่ลิ้งนี้ --> ผ้าไตรจีวร

อ่านแล้วชอบบทความ Sukhogroup (ร้านจำหน่ายของชำร่วยงานศพอันดับ1 ของประเทศไทย) ก็ขอฝากกด Like  เพจด้วยนะครับ จะได้ไม่พลาดบทความดีๆ จากเรา ไว้เจอกันบทความหน้าครับ