ความเป็นมาของพิธีเก็บกระดูก
การเก็บกระดูกหลังเผา นับเป็นพิธีกรรมทางศาสนาของประเทศไทยเพื่อเป็นการส่งดวงวิญญาณผู้ตายให้ไปสู่สวรรค์หลังฌาปนกิจศพ และเป็นธรรมเนียมปฏิบัติต่อกันมาช้านานกว่า 2500 ปี โดยสมัยก่อนมีความเชื่อว่าเมื่อหมดลมหายใจครั้งแรกจะยังไม่ตายทันที จึงเก็บร่างไว้ก่อนเพื่อให้หมอขวัญทำพิธีเรียกขวัญให้ฟื้นคืนชีพ โดยมีการบรรเลงดนตรีเสียงดังเพื่อให้ขวัญกลับมา จึงเป็นที่มาของเสียงปีพาทย์หรือการรำหน้าศพในปัจจุบัน
โดยในระหว่างที่มีพิธีเรียกขวัญ เนื้อหนังผู้ตายจะเริ่มเปื่อยและหลุดออกจากร่าง ทำให้ต้องขูดกระดูกเพื่อทำความสะอาดก่อนบรรจุจะเก็บไว้ในภาชนะที่เตรียมไว้ ต่อมาพิธีเก็บกระดูกได้เปลี่ยนไปตามยุคสมัย และความเหมาะสมของสถานที่ จนกลายเป็นพิธีเก็บกระดูกที่วัดเช่นในปัจจุบัน
พิธีเก็บกระดูก
เป็นขั้นตอนต่อเนื่องที่เกิดขึ้นหลังจากการฌาปนกิจศพเสร็จสิ้นแล้ว โดยญาติสามารถเลือกได้ว่าจะเก็บกระดูกวันเผาเลย หรือเก็บในวันรุ่งขี้น ซึ่งกระดูกส่วนหนึ่งไว้บูชาที่บ้านเป็นที่ระลึกถึงของลูกหลาน และยังช่วยลดกระดูที่อาจจะไปล้นวัดที่ทำการเผาศพได้ หรือเก็บกระดูกไว้ที่วัดเพื่อความเป็นมงคลต่อผู้ตาย และส่วนที่เหลือจะนำไปลอยอังคาร หรือบางคนอาจลอยอังคารทั้งหมดเลยก็ได้
สิ่งที่ต้องเตรียมสำหรับพิธีเก็บกระดูก
เจ้าภาพจะต้องเตรียมสิ่งของสำหรับใช้ในพิธีเก็บกระดูกตามประเพณี โดยมีดังนี้
- กล่องสำหรับใส่กระดูกเป็นภาชนะดินปั้น ทำจากดินเหนียวล้วนๆ หรือที่เรียกว่า “ลุ้งลอยอังคาร” หรือใช้หีบไม้แทนก็ได้
- ผ้าขาวห่อลุ้งหรือหีบไม้ที่มีกระดูกบรรจุอยู่
- โกศใส่กระดูกหรือโถใส่กระดูกที่ใช้ในการใส่อัฐิและอังคารที่เหลืออยู่
- ผ้าบังสุกุล สำหรับทอดบังสุกุลก่อนเก็บกระดูก
- อาหารคาวหวาน สำหรับถวายพระในพิธีเก็บกระดูก
- น้ำอบไทย
- ดอกไม้ธูปเทียน เครื่องไทยธรรมตามจำนวนพระที่เข้ามาร่วมพิธีสวดในวันเก็บกระดูก
- ดอกไม้ เงินเหรียญ สำหรับใช้ในการโรยบนกระดูก
ขั้นตอนพิธีเก็บกระดูก
- เริ่มด้วยพิธีสามหาบ คือให้คน 3 คน เดินวนรอบเชิงตะกอน 3 รอบก่อน จากนั้นหาบของที่เตรียมมา ได้แก่ หาบของนุ่ง (สบงจีวร)
หาบของกิน (อาหารคาว-หวานถวายพระ) และหาบของใช้ (เตา หม้อ ถ้วยชาม เป็นต้น) โดยการเดินวนรอบเชิงตะกอนต้องร้องตะโกนให้เสียงดัง ๆ พร้อมกันเพื่อให้ดวงวิญญาณของผู้ตายยินยอมและมารับส่วนกุศลที่เจ้าภาพทำอุทิศ - เมื่อถึงเวลาที่กำหนด สัปเหร่อจะมาเก็บกระดูกของผู้ตาย แล้วนำมาเรียงให้เป็นรูปคน โดยให้ศีรษะหันไปทางทิศตะวันตก
- นิมนต์พระเพื่อทำพิธีพิจารณาผ้า โดยให้วางผ้าบังสุกุลบนกองกระดูกผู้ตาย และพระทำพิธีบังสุกุลผู้ตายต่อไป
- สัปเหร่อหมุนหัวผู้ตายให้หันไปทางทิศตะวันออก และนำน้ำอบไทย ดอกไม้ และเหรียญเงินที่เตรียมมาวางที่กองกระดูก เพื่อผู้ตายได้ไปเกิดใหม่ในที่ดี ๆ โดยน้ำอบไทยหมายถึงความสดชื่น ดอกไม้ใช้แทนความงดงาม
- นิมนต์พระสงฆ์ขึ้นทำพิธีพิจารณาผ้าไตรอีกครั้งหนึ่ง โดยพาดผ้าไตรเพื่อบังสุกุลไว้ที่กระดูกผู้ตายด้วยการบังสุกุล
- เมื่อพระสงฆ์ทำพิธีบังสุกุลแล้ว ให้เจ้าภาพเก็บกระดูกใส่ในโกศให้เรียบร้อย โดยกระดูกที่เก็บมาจาก 6 ส่วนของร่างกาย ประกอบด้วยกะโหลกศีรษะ 1 ชิ้น, กระดูกแขนขา ทั้งซ้ายและขวาอย่างละ 1 ชิ้น, กระดูกซี่โครง 1 ชิ้น สามารถนำส่วนนี้เก็บที่บ้าน ส่วนที่เหลือเก็บใส่ไว้ในลุ้งหรือหีบไม้ที่เตรียมมาทั้งหมด และห่อด้วยผ้าขาวให้เรียบร้อย เพื่อนำไปลอยอังคารต่อไป หรืออาจเก็บไว้ในที่ที่เหมาะสม เช่น วัด เป็นต้น
- เมื่อเก็บกระดูกเรียบร้อยแล้ว ให้นำโกศใส่กระดูกมาตั้งไว้หน้าพระสงฆ์
- ถวายอาหารเช้า หรือน้ำปานะแด่พระสงฆ์ตามสมควร ก็จะถือว่าพิธีเก็บกระดูกเสร็จสมบูรณ์
ควรเก็บกระดูกพ่อแม่ไว้ที่ไหน
หลายคนคงสงสัยและอาจสับสนว่าควรเก็บกระดูกพ่อแม่อย่างไรดี กลัวว่าถ้าเก็บไว้บ้านท่านจะยังเป็นห่วงหรือไม่ แต่ตามความจริงแล้ว การเก็บกระดูกพ่อแม่เป็นเพียงเพื่อให้เป็นเครื่องระลึกถึงคุณความดีของท่าน เพื่อเกิดกุศลจิตกับผู้กราบไหว้และได้พบเห็นเท่านั้น ดังนั้น กระดูกพ่อแม่เพียงเก็บในที่ที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นที่บ้านหรือวัด หรือจะลอยอังคารทั้งหมดก็ดีเสมอ อยู่ที่การระลึกถึงและเจตนาที่ดีของบุตรหลานที่ยังอยู่มากกว่า
สรุป
พิธีเก็บกระดูก เป็นพิธีเกือบสุดท้ายก่อนนำกระดูกไปลอยอังคาร จึงถือว่าเป็นพิธีการที่สำคัญเจ้าภาพจะต้องศึกษาข้อมูลพิธีอย่างละเอียด ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบ สิ่งที่ต้องเตรียม และขั้นตอนเพื่อให้พิธีการเป็นไปอย่างราบรื่น และเพื่อส่งดวงวิญญาณผู้ตายครั้งสุดท้ายอย่างดีที่สุด และอย่าลืมว่าคนตายจากไปแล้ว การเก็บกระดูกเป็นเพียงเครื่องระลึกถึงผู้ตายเท่านั้น แต่ส่วนสำคัญอยู่ที่กุศลที่เกิดในใจของผู้ที่ยังอยู่มากกว่า
อ้างอิง
https://susarn.com/2020/11/02/เก็บ-อัฐิ/
https://www.suriyafuneral.com/พิธีกรรมการเก็บอัฐิ/
อ่านแล้วชอบบทความ Sukhogroup (ร้านจำหน่ายของที่ระลึกงานศพอันดับ1 ของประเทศไทย) ก็ขอฝากกด Like เพจด้วยนะครับ จะได้ไม่พลาดบทความดีๆ จากเรา ไว้เจอกันบทความหน้าครับ